G-Nest
green & healthy housing

บ้านต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย

หลักการ:
บ้าน G-Nest เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยเรื่อง “โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคสำหรับการวิจัยและพัฒนาบ้าน G-Nest ระยะที่ 1” อันเกิดจากการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาที่พักอาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย ระหว่างศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ MTEC กับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 โดยมีจุดประสงค์เพื่อออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับเป็นอาคารต้นแบบเพื่อรองรับงานวิจัยและใช้เป็นสถานที่ทดสอบ เพื่อยืนยันสมรรถนะและความสามารถของเทคโนโลยีและสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเริ่มดำเนินการออกแบบตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2557 และดำเนินการแล้วเสร็จวันที่ 20 มิถุนายน 2557 
 

ที่มาของงานออกแบบ:
บ้านและที่อยู่อาศัย เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ การสร้างบ้านให้ตอบสนองกับความต้องการจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อเจ้าของบ้านที่ผู้ออกแบบทุกคนต้องให้ความสำคัญ รวมถึงการเพิ่มคุณค่าลงในสถาปัตยกรรม บ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยต่อสุขภาวะของผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ออกแบบควรตระหนัก ด้วยวิถีการดำรงชีวิตในสังคมเมืองปัจจุบัน มนุษย์มีแนวโน้มดำรงชีวิตส่วนใหญ่ในอาคารมากขึ้น จากร้อยละ 80 ของชีวิตเพิ่มเป็นร้อยละ 90 ของชีวิต (ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ, 2557)

นอกจากนี้บ้านยังเป็นจุดเริ่มต้นของการบริโภคทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางพลังงาน วัสดุการก่อสร้าง ตลอดจนผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตปัจจุบัน โดยผลลัพธ์ทางอ้อมจากการเลือกบริโภคสิ่งต่างๆ เหล่านั้น นำมาสู่ปัญหาผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเอง อาทิ ปัญหาการบริโภคพลังงานไฟฟ้า ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouses Gas) อันมาจากการใช้พลังงานไฟฟ้า การปลดปล่อยสารระเหยจำพวก “สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย” (Volatile Organic Compounds: VOC) อันมากจากผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนต่างๆ หรือปัญหาบำบัดน้ำเสียหลังจากใช้งาน (Waste Water Treatment) โดยสาเหตุหนึ่งของปัญหาต่างๆ มาจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่คุ้นชินและทัศนคติในการเลือกบริโภคสินค้า

หน่วยวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวจึงได้มีแนวคิดในการพัฒนากลไกเทคโนโลยีให้เอื้อต่อการผลิตและการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ศึกษาทดลองผลิตภัณฑ์และวัสดุการก่อสร้างที่เหมาะสมสำหรับบ้านและที่อยู่อาศัย ตลอดจนสามารถเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ให้กับผู้บริโภคเพี่อปรับทัศนคติและสร้างพฤติกรรมในการดำรงชีวิตใหม่ จนนำมาสู่โครงการ บ้าน G-Nest บ้านต้นแบบที่เป็นมิตรต่อส่งแวดล้อมและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย

แนวความคิดในการออกแบบ:
บ้าน G-Nest (Green & Healthy Housing) บ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้อยู่อาศัยตลอดวัฎจักรชีวิตของบ้าน และการอยู่อาศัย ประกอบไปด้วย และ RE-Think: “บ้านเขียว” ที่จะนำไปสู่การดำรงชีวิตในบ้านอย่างยั่งยืนได้มากกว่า วัสดุและเทคโนโลยีสีเขียว เพราะต้องผ่านการออกแบบและสร้างให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขนามัยที่ดีและมีความสุข ต้องกระตุ้นให้ผู้อยู่เลือกรักษ์สิ่งแวดล้อมและเลือกวิถีการดำรงชีวิตในบ้านที่ปลอดภัย ต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้ตามความต้องการที่แตกต่างตามแต่ละเวลา-ช่วงอายุ 

วัตถุประสงค์:

 

  1. เพื่อออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อรองรับงานวิจัยภายใต้ แนวคิดหลัก (Focus Theme) “บ้าน G-Nest”
  2. เพื่อใช้เป็นหน่วยทดสอบและยืนยันสมรรถนะและความใช้ได้ของเทคโนโลยีและสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม (ทั้งที่พัฒนาขึ้นเองในหน่วยวิจัย และที่พัฒนาโดยผู้ผลิตในประเทศ) ในสภาวะใกล้เคียงจริง
สถานที่ตั้ง:

โครงการบ้าน G-Nest ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดติดริมขอบที่ดินของพื้นที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พื้นที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่บ่อพักน้ำและพื้นที่รกร้างรอการพัฒนา รวมพื้นที่ 1-1-18 ไร่ โดยประมาณ มีอาณาเขตดังนี้

ทิศเหนือ        เป็นแนวคันกั้นน้ำ คอนกรีตเสริมเหล็ก และคันดิน ติดกับพื้นที่ข้างเคียง
ทิศใต้             มีอาคารสูบน้ำประจำบ่อ และถนนผิวคอนกรีตกว้าง 12 เมตร ใช้เป็นพื้นที่ทางสัญจรภายในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ฯ ถัดไปอีกด้านของถนนเป็นอาคาร MTEC Pilot Plant
ทิศตะวันออก  ติดกับโรงบำบัดน้ำเสีย และเตาเผาขยะพิษ
ทิศตะวันตก    ติดกับพื้นที่ว่างเปล่ารอการพัฒนา

ภาพถ่ายที่ตั้งอาคารมีลักษณะบ่อพักน้ำ ช่วงผันน้ำออกจากบ่อทั้งหมด
 

 


จากการลงสำรวจพื้นที่ตั้งโครงการ พบว่า เป็นบ่อน้ำข้างโรงบำบัดน้ำเสียในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ตั้งหลังอยู่อาคาร MTECH Pilot Plant สภาพที่ตั้งเป็นบ่อพักน้ำขนาดใหญ่ ความลึกก้นบ่อจากระดับถนนอยู่ประมาณ 4 เมตร ตลิ่งรอบบ่อเป็นสภาพดินเดิมที่ไม่มีการปรับสภาพใดๆ ปริมาณน้ำที่เข้าบ่อมีมากถึง 98,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือประมาณ 375 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยน้ำในบ่อนี้จะนำไปใช้ในการรดน้ำต้นไม้ภายในสำนักงานวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งจะมีการสูบออกจดหมดทุกสัปดาห์ ขนาดความกว้างจากการสำรวจอยู่ที่ 20x20 เมตร ระดับความชันขอบบ่อเป็นแบบ 1:1 ก้นบ่อมีขนาด 14x14 เมตร ซึ่งหากจุน้ำเต็มบ่อสามารถรองรับน้ำได้ 870 ลูกบาศก์เมตร
 

ผลการออกแบบขั้นต้น:

ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ บ้าน G-Nest เป็นพื้นที่ศึกษา วิจัย ทดลอง และเผยแพร่ศาสตร์องค์ความรู้เกี่ยวกับบ้านและการอยู่อาศัย และพัฒนาให้เป็นบ้านต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย ตามหลักการ 5 แนวคิดหลักที่กล่าวในช่วงต้น นำมาสู่แนวคิดในการออกแบบดังนี้

  • ใช้เป็นพื้นที่ศึกษา วิจัย ทดลอง และเผยแพร่ องค์ความรู้และการพัฒนาวัสดุการก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนเครื่องใช้ภายในบ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผู้อยู่อาศัย
  • ตัวอาคารต้องสามารถสะท้อนแนวคิดความเป็นบ้านที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “อาคารเขียว” ในมุมมองใหม่
  • นำมาสู่การเลือกใช้โครงสร้างอาคารแบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป อย่างโครงสร้างเหล็ก แบบน๊อตและสกรู (Bolting) สามารถถอดประกอบ หรือปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้
  • ระบบผนัง และชิ้นส่วนโครงสร้างจะถูกกำหนดขนาดด้วยมาตราฐานแบบประสานพิกัด (Modular) เพื่อลดเศษชิ้นส่วนโครงสร้างและผนังให้น้อยที่สุด การกำหนดระยะจึงอยู่ที่ฐาน 0.30 เมตรเป็นหลัก
  • ระบบผนังสามารถถอดประกอบ เพื่อใช้ทดลองประสิทธิภาพของวัสดุก่อสร้างต่างๆ
  • แนวทางการออกแบบอาคารต้องส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้า และเน้นการออกแบบที่พึ่งพาธรรมชาติ (Passive Approach) เป็นสำคัญ
  • การกำหนดพื้นที่ภายในบ้านให้สอดคล้องกับบ้านพักอาศัยที่มีอยู่ในท้องตลาดและได้รับความนิยม โดยกำหนดให้เป็นบ้าน 2 ชั้น 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ พื้นที่ใช้สอย 200 ตารางเมตรโดยประมาณ
  • โครงสร้างส่วนล่างของอาคารต้องทนต่อสภาพการกัดกร่อนจากระดับน้ำขึ้นลงในบ่อ
  • อาคารต้องใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้ได้มีประสิทธิภาพสูงสุด
แบบร่างผังพื้นชั้นที่ 1
 
แบบร่างผังพื้นชั้นที่ 2
 
แบบร่างภาพรวมอาคารพร้อมแนวคิดการออกแบบ
 
  
 

ขนาดพื้นที่ใช้สอย:
ด้วยผลลัพธ์จากการนำเสนอผลการออกแบบขั้นต้นทาง MTEC ได้ให้การตอบรับและชื่นชมเป็นอย่างดีกับหลักการแนวคิดการออกแบบ และรูปแบบผังสามารถตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดี มีเพียงขอปรับแก้การจัดวางอาคารให้หันด้านหน้าบ้านไปทางทิศตะวันตก เพื่อจำลองสถานการณ์ที่แย่ที่สุด จนนำมาสู่ผลการออกแบบขั้นสุดท้าย

ประเภทพื้นที่ใช้สอย(บ้าน) ขนาดพื้นที่
ห้องรับแขก: พื้นที่ Exhibition / Green Product Show Case 23 ตารางเมตร
ห้องรับประทานอาหาร: พื้นที่ VOCs Lab 13 ตารางเมตร
ห้องครัว: พื้นที่ Wet Lab 11 ตารางเมตร
ห้องนอน 1:พื้นที่ Product Prototype 40 ตารางเมตร
ห้องนอน 2: พื้นที่ Product Experimental 20 ตารางเมตร
ห้องนอน: พื้นที่ Lab 20 ตารางเมตร
พื้นที่อื่นๆ: (ห้องน้ำ บันได ทางเดิน ระเบียง) 53 ตารางเมตร
รวมพื้นที่ใช้สอย 180 ตารางเมตร
 
ภาพจำลอง1 (มุมมองจากถนนหน้าโครงการ)
 
ภาพจำลอง2 (มุมมองจากเตาเผาขยะ)
 
ภาพจำลอง3 (มุมมองจากแนวคันคอนกรีตเสริมเหล็กกั้นน้ำ)
 
ภาพจำลอง3 (มุมมองจากพื้นที่ฝั่งทิศตะวันตก)
 
 
งบประมาณ:
5 ล้านบาท