สวนประติมากรรม "ครุ่นคิด" เป็นผลงานการออกแบบด้านภูมิสถาปัตยกรรม ของผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภณัฐ เดชนิรัติศัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตั้งอยู่ในบริเวณแนวแกนกลางมหาวิทยาลัย ด้านหลังกิติยาคาร และอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ ระยะที่ 3 (SC 3) มีเนื้อที่รวมประมาณ 3,250 ตารางเมตร (ประมาณ 2.05 ไร่) เดิมเป็นพื้นที่ของลานกิจกรรม และทางเข้าของสนามซอฟท์บอล เมื่อครั้งยังคงเป็นสนามกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ประมาณปีพ.ศ. 2540 โดยปัจจุบันได้ทำการปรับปรุงสวนประติมากรรม"ครุ่นคิด" จนแล้วเสร็จ และได้จัดพิธีเปิดสวนในวันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565

 

ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ  มีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างใกล้ชิด ในปีพ.ศ. 2488 ท่านจบการศึกษาเตรียมปริญญาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และจบธรรมศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2492 สถานที่ทำงานแห่งแรกของท่าน คือ กองสหประชาชาติกรมการเมืองตะวันตก กระทรวงต่างประเทศ ก่อนที่จะลาไปศึกษาต่อต่างประเทศในปีพ.ศ. 2494-2496 จนกลับมาทำงานเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษากฎหมายสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย กระทรวงต่างประเทศอีกครั้ง

ท่านกลับมาสู่รั้วธรรมศาสตร์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2498  เพื่อเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ และยังได้ทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้นยังได้ทำงานสำคัญเพื่อการพัฒนาการศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะการริเริ่มหลักสูตรวิชาพื้นฐาน เพื่อใช้ศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแห่งแรก และการก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์เพื่อทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานต่าง ๆ  สร้างมาตรฐานความรู้ ให้แก่นักศึกษา ได้มีความรอบรู้ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล คิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ ความรู้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และสังคมได้

ศาตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ เป็นคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505-2517 และท่านได้ยังได้ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงปี 18 ตุลาคม พ.ศ. 2516 – 28 กันยายน พ.ศ. 2517 ซึ่งถือเป็นช่วงวิกฤติการเมืองทั้งใน และนอกมหาวิทยาลัยค่อนข้างรุนแรง ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และหลังจากนั้ัน ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เข้ามารับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนต่อไป ปัจจุบันครอบครัวของ ศาสตรจารย์ ดร.อดุล ได้บริจาคหนังสือส่วนตัวของท่านให้แก่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมสถานที่เพื่อทำเป็นคอลเลคชั่นพิเศษให้บริการแก่ผู้ใช้ห้องสมุด โดยจะตั้งอยู่ที่ชั้น  U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

อ้างอิงข้อมูลจาก:  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะศิลปศาสตร์.  36 ปี ศิลปศาสตร์ 72 ปี  ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ. (2541). ปทุมธานี:  โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 

ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ผลักดันโครงการการจัดสร้างสวนประติมากรรมครุ่นคิด โดยร่วมกับบริษัท พี ที ที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTT GC โดยได้รับมอบทุนสนับสนุนจากบริษัทดังกล่าว เป็นจำนวนเงินประมาณ 3 ล้านบาท สำหรับค่าก่อสร้างส่วนสนับสนุน รวมถึงการอำนวยการดำเนินงาน และการก่อสร้าง  โดยสำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เพื่อให้เกิดพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย ที่สามารถเชิดชูเกียรติของท่านได้

รูปภาพของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้แก่ อธิการบดี รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อดีตอธิการบดี ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ และศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ และรองอธิการบดีในตำแหน่งต่าง ๆ 

 

รูปภาพของคณะกรรมการ บริษัท พี ที ที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการอิสระ (กรรมการที่มิใช่ผู้บริหาร) คู่สมรส คุณอานิก อัมระนันท์ ซึ่งเป็นบุตรสาวของรองศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ นายคงกระพัน อินทรแจ้ง กรรมการ (กรรมการที่เป็นผู้บริหาร), เลขานุการคณะกรรมการ, กรรมการบริหารความเสี่ยง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ รวมถึงเลขานุการ และเจ้าหน้าที่ของบริษัท

 

รูปภาพของคณะกรรมการ บริษัท พี ที ที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

รูปภาพของครอบครัวศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

รูปภาพของบัณฑิตคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 1 เมื่อครั้งที่ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ เป็นคณบดีคนแรกของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพ้นจากตำแหน่งคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 ตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ 36/2519

 

รูปภาพประติมากรรมต้นแบบ Self Portrait เป็นงานประติมากรรมเหล็กแผ่น ผลงานของศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ รังสรรค์จากรูปหน้าด้านข้างของผู้สร้างสรรค์ผลงาน จัดแสดงไว้ที่นิทรรศการชั้น  U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งได้นำมาเป็นต้นแบบประติมากรรม โดยขยายขนาดจากความสูงประมาณ 22 เซนติเมตร เป็นความสูงประมาณ 3.50 เมตร รวมความสูงของฐาน เพื่อให้เกิดความใหญ่โตเหมาะสมกับพื้นที่ และมองเห็นได้อย่างชัดเจนเป็นเกียรติประวัติ

รูปภาพการนำเสนอแนวความคิดเบื้องต้นของการออกแบบสวนประติมากรรม "ครุ่นคิด" ของผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภณัฐ เดชนิรัติศัย ซึ่งเป็นผู้ออกแบบพื้นที่สวนประติมากรรมครุ่นคิด แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้บริหารบริษัทพี ที ที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในวันที่รับมอบทุนสนับสนุนการก่อสร้างประติมากรรม และพื้นที่สวนโดยรวม ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการคัดเลือกวัสดุเหล็ก (Recycle Steel) ที่นำกลับมาใช้ใหม่ ตามแนวคิด Circular Living สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร และเป็นต้นแบบการทำประติมากรรมรูปแบบใหม่ต่อไป