การออกแบบห้องพักบุคลากรในมหาวิทยาลัย

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปทุมธานี

FACULTY LOUNGE DESIGN IN UNIVERSITY

Case Study at Faculty of Architecture and Planning, Thammasat University, Rangsit, Thailand

 

เพชร จิตต์สุวรรณ

Phet Jitsuwan

 

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี 12121

Faculty of Architecture and Planning, Thammasat University, Pathumthani 12121, Thailand

E-mail: tehp5@hotmail.com

 

บทนำ

ในปัจจุบัน การออกแบบพื้นที่ทำงานไม่ได้มุ่งเน้นไปเพื่อสนับสนุนการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาการออกแบบที่สนับสนุนการเพิ่มคุณภาพชีวิตและการส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวมของบุคลากร เพื่อผลลัพธ์ของความยั่งยืนที่สามารถนำไปสู่การมีส่วนร่วม, ความสมดุล, และการมีสุขภาพดี ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้บุคลากรทำงานได้มีอย่างประสิทธิภาพและมีความสุขในที่ทำงานมากขึ้น การออกแบบสถานที่ทำงานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีสามารถส่งเสริมสถานะความเป็นอยู่แบบองค์รวมให้กับคนในที่ทำงาน ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่พัก “Staff break area” หรือ พื้นที่รับประทานอาหาร “Pantry” สามารถเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี และเป็นการสร้างรากฐานในการเรียนรู้ทำความคุ้นเคยกับเพื่อนร่วมงาน และการแบ่งปันความคิด หรือบางครั้ง พื้นที่พัก คือพื้นที่ที่สามารถหลบหนีความวุ่นวายชั่วขณะ เป็นพื้นที่อันเงียบสงบเพื่อฟื้นตัวจากอาการเหนื่อยล้า หรือปวดศีรษะ และใช้เวลาพักเล็กน้อยในช่วงพักกลางวันบนเก้าอี้อาร์มแชร์ขนาดใหญ่ หรือโซฟาที่นุ่มสบายสำหรับนั่งพักผ่อนหรือพักงีบ  "Power napหรือ รูปแบบของความสนุกบางอย่าง เช่น การเล่นวิดีโอเกม เป็นการกระตุ้นให้เกิดความท้าทายอย่างสนุกสนาน ช่วยในการสร้างความเป็นทีมของบุคลากรและมีทัศนคติที่ดีขึ้นได้

เนื่องจาก บุคลากรส่วนหนึ่งไปรับประทานอาหารว่างและรับประทานอาหารกลางวันในพื้นที่รับประทานอาหาร จำเป็นต้องจัดหาตู้เย็น ไมโครเวฟ และ จานชามภาชนะ  พร้อมของว่างและเครื่องดื่ม เช่น ผลไม้สด ขนม น้ำดื่ม ชา กาแฟ แต่หากไม่สามารถจัดหาสิ่งเหล่านี้ได้ ให้ติดตั้งเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ หรือทำ"กล่องความซื่อสัตย์" การส่งเสริมให้บุคลากรและผู้บริหารร่วมรับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน หรือ จัดงานเลี้ยงสังสรรค์เป็นประจำช่วยรักษาความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกัน ดังนั้น การคำนึงถึงการออกแบบพื้นที่พักของบุคลากร (Staff break room or Staff lounge)  ที่ดี จึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาบุคคลและองค์กร

 

บทที่ 1 ภาคทฤษฎีและการรวบรวมข้อมูล

ขั้นตอนการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเป็นการศึกษาเอกสารข้อมูลเพื่อแนวคิดการออกแบบห้องพักสำหรับบุคลากรในมหาวิทยาลัย (Faculty lounge) เป็นการศึกษาแนวทฤษฎีและรวบรวมข้อมูลจากเอกสารข้อมูลวิชาการ แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ และจากกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาวิเคราะห์โดยมุ่งเน้นการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมภายใน

 

ทฤษฏีและหลักการออกแบบพื้นที่พักสำหรับบุคลากร

ห้องพนักงาน หรือที่เรียกว่า เลานจ์ (Lounge) คือห้องพักสำหรับ อาจารย์ หรือ เจ้าหน้าที่ ของโรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย สำหรับนั่งพูดคุย พักผ่อน ปรึกษาหารือเกี่ยวกับงาน กินดื่ม หรือ สังสรรค์ในขณะที่ไม่อยู่ในชั้นเรียน

ห้องพนักงานจะมีสองลักษณะคือ 1. ห้องพักบุคลากร (Staff break room) 2. ห้องส่วนกลางของคณะ (Faculty Lounge) มีห้องครัว(Pantry)

1. แบบของห้องพักบุคลากร (Staff break room) จะขนาดพื้นที่ขนาดเล็กสำหรับเฉพาะกลุ่มบุคลากรในพื้นที่ 4-8 คน สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีโต๊ะเก้าอี้สำหรับพูดคุย ทำงาน รับประทานอาหาร หรือของว่าง อาจมีห้องครัวหรือพื้นที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม โทรทัศน์ ตู้เย็น เตาอบไมโครเวฟ เครื่องชงชา-กาแฟ เครื่องต้มน้ำร้อน เป็นต้น ตำแหน่งที่ตั้งควรมีหน้าต่างและอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ทำงาน (work place) ของทุกชั้น ดังแสดงในรูปที่ 1.1   

รูปที่ 1.1 ภาพตัวอย่างผังเฟอร์นิเจอร์ห้องพักบุคลากรขนาดเล็ก ( Staff break room)

ที่มา: Staff break room courtesy of SmithGroup, Inc

2. ห้องพักส่วนกลางของคณะ (Faculty Lounge) เป็นห้องขนาดใหญ่สำหรับบุคลากรในคณะ (อาจารย์และเจ้าหน้าที่) รวมถึงอาจารย์พิเศษ และแขกที่มาเยี่ยมเยือนคณะ บุคลากรสามารถเข้าถึงได้ง่าย ระยะเดินทางควรประมาณ 60 เมตร จากพื้นที่ทำงาน (workplace) ควรเลือกตำแหน่งที่ตั้งบริเวณศูนย์กลางของอาคาร แสงธรรมชาติสามารถเข้าถึงในพื้นที่ และ ผู้ใช้งานสามารถรับรู้ถึงธรรมชาติ เช่น มีมุมมองที่เห็นพื้นที่สีเขียวจากภายนอก หรือ การนำธรรมชาติเข้ามาสู่พื้นที่ภายในในการกำหนดพื้นที่ใช้สอย (Zoning) ควรแบ่งพื้นที่ตามความต้องการของแต่ละองค์กร หรือ คณะ เช่น พื้นที่นั่งพัก พื้นที่ทำงาน ห้องครัว ห้องประชุมขนาดเล็ก ห้องน้ำ เป็นต้น ดังแสดงในรูปที่ 1.2   

รูปที่ 1.2 ภาพผังการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้สอย ( Faculty Lounge)

ที่มา: Staff break room courtesy of SmithGroup, Inc

ในพื้นที่ใช้สอยควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น โต๊ะทำงาน ชุดโซฟา เก้าอี้ โทรทัศน์ ฯลฯ และสามารถเข้าถึงสัญญาณไร้สายอินเตอร์เน็ต(Wi-Fi) ชุดโต๊ะเก้าอี้สำหรับสำหรับนั่งพูดคุย ทำงาน ดื่มกาแฟ หรือ รับประทานอาหาร อาจมีห้องครัวหรือพื้นที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม โทรทัศน์ ตู้เย็น เตาอบไมโครเวฟ เครื่องชงชา-กาแฟ เครื่องต้มน้ำร้อน เป็นต้น

ดังแสดงในรูปที่ 1.3

รูปที่ 1.3 ภาพตัวอย่างการจัดผังเฟอร์นิเจอร์ห้องพักบุคลากร ( Factulty lounge)  

ที่มา: Staff break room courtesy of SmithGroup, Inc

การออกแบบห้องพักส่วนกลางของคณะ (Faculty Lounge) ควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพในการใช้งาน เพื่อตอบสนองต่อผู้ใช้งาน พื้นที่ใช้งานที่เหมาะสมเพียงพอไม่คับแคบจนเกินไป และมีความสะดวกสบาย หลักการการออกแบบพื้นที่ประกอบด้วยหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการออกแบบ เช่น การควบคุมแสงสว่างทั้งแสงธรรมชาติและแสงประดิษฐ์ เสียงมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ใช้งาน เสียงที่ก้องเกินไปส่งผลให้รบกวนผู้ใช้งานคนอื่น การสัมผัสอุณหภูมิของร่างกาย การรับรู้ความรู้สึกร้อน หรือ หนาวเย็นมากเกินไปส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ การควบคุมอุณหภูมิ (Temperature) และ การรักษาดุลยภาพของอุณหภูมิในร่างกายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงการหมุนเวียนของอากาศที่ดี และการเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ในการบรรเทาปัญหาทางเดินหายใจ การออกแบบจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงอุณหภูมิที่สบาย อากาศไหลเวียนได้ดี รวมถึงความชื้นและการระบาย

การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ควรพิจารณาถึงหลักการยศาสตร์ (Ergonomic)  เก้าอี้ที่นั่งสบายเหมาะสมกับสรีระร่างกายของมนุษย์ถูกหลักสรีรศาสตร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความผาสุกทางร่างกาย เฟอร์นิเจอร์ประเภทเบาะ เช่น เก้าอี้อาร์มแชร์ หรือ โซฟาควรมีความนุ่มสบายสำหรับการพักผ่อนหรือพักงีบ "Power nap" การงีบระหว่าง 10-20 นาที เป็นการพักที่มีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มพลังให้

กระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉง และสมองโปร่งใสขึ้น เพียงพอสำหรับการกลับไปทำงานดังแสดงในรูปที่ 1.4

รูปที่ 1.4 "Power nap" การงีบ 10-20 นาที เป็นการพักที่มีประสิทธิภาพ

ที่มา: https://lifehacker.com/how-long-to-nap-for-the-biggest-brain-benefits-1251546669

สีพื้นผิว (Colors and Texture) มีผลเชิงจิตวิทยา การออกแบบพื้นที่พักควรเลือกใช้กลุ่มสีที่ให้ความรู้สึกสงบผ่อนคลายและสดชื่น เหมาะสำหรับพื้นที่อ่านหนังสือ พักผ่อน หรือใช้ความคิดและสมาธิ  

เสียง (Acoustic and noise control) มีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ใช้งาน เสียงที่ก้องเกินไปส่งผลให้การสื่อสารข้อมูลผิดพลาด ขาดความชัดเจน และขาดสมาธิ  ในการออกแบบจึงจำเป็นต้องสามารถควบคุมความก้องกังวานของเสียงสะท้อน การกระจายเสียง และการดูดซับเสียงให้มีค่าที่เหมาะสม เช่น การเลือกใช้วัสดุที่มีค่าสัมประสิทธิ์ การดูดกลืนที่ดีช่วยในการลดเวลาของการสะท้อนกลับของเสียงให้น้อยลง  ห้องพักที่มีคุณภาพควรมีการป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก เช่นติดตั้งฉนวนกันเสียงในผนัง หรือ แขวนผ้าม่าน

สภาพแวดล้อมที่มีธรรมชาติในพื้นที่มีผลอย่างมากต่อการพัฒนาสุขภาพจิต และการมองเห็นพื้นที่ธรรมชาติจากภายนอกหรือการนำธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ภายในตามความสัมพันธ์ของมนุษย์ตามแนวคิดเรื่อง “Biophilia” ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีความต้องการทางสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและชีวภาพในการเชื่อมต่อซึ่งมีผลทางกายภาพและจิตใจ เช่น พื้นที่สีเขียว ต้นไม้ แสงแดดเป็นต้น ดังแสดงในรูปที่ 1.5

รูปที่ 1.5 ภาพตัวอย่างแนวคิดเรื่อง “Biophilia” การนำธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ภายใน

ที่มา https://www.phsgreenleaf.co.uk/biophilia-in-office-design-4-ways-to-bring-nature-into-the-office/

 

ตารางที่ 1.1   รายการตรวจสอบข้อเสนอแนะการออกแบบตกแต่งภายใน

รายการตรวจสอบ กลยุทธ์ 
(Checklist) (Strategy)
1.เสียงสะท้อน • ควรเลือกใช้วัสดุในการซับเสียงที่ดี เช่น พื้น ผนัง และ เพดาน เนื่องจากพื้นผิวของวัสดุบางชนิดจะสะท้อนเสียง หรือ พื้นผิวบางชนิดจะซับเสียง 
Acoustic and Noise • ควรป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก 
2) แสง  • มีช่องแสงหรือหน้าต่าง ให้แสงธรรมชาติสามารถเข้าถึงในพื้นที่ให้สว่างสดใส
Daylight and Lighting • แสงประดิษฐ์ ต้องมีความสว่างเพียงพอ และสามารถควบคุมแสงได้ตามต้องการ
3) อุณหภูมิ • การสัมผัสอุณหภูมิของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญจึงต้องสามารถควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมในพื้นที่ใช้งาน
• อุณหภูมิ 20-25 องศาเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมโดยประมาณที่ร่างกายของเราจะอยู่ในสภาวะความร้อนที่สมดุลกับสิ่งแวดล้อม
4) การถ่ายเทอากาศ • พื้นที่นั่งพักควรมีการระบายอากาศที่ดี และมีอากาศบริสุทธิ์  
5) สถานที่ Location      • สถานที่ควรมีคุณภาพสวยงามและมีสิ่งอำนวยความสะดวก 
• ควรอยู่ใกล้พื้นที่ทำงาน (workplace) และห้องน้ำ 
• ควรมีหน้าต่างหรือช่องเสียง 
7) พื้นที่ภายนอก และภายใน  • พื้นที่สีเขียวควรเชื่อมต่อกับพื้นที่ภายใน ช่วยสร้างความรู้สึกที่ดี
• การตกแต่งภายในควรให้มีความพอดี เหมาะสำหรับคนทุกระดับไม่รู้สึกแตกต่าง
8) การเข้าถึง • การวางผังควรออกแบบให้พื้นที่พักอยู่ศูนย์กลาง (Centered) สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ง่าย 
9) สีและพื้นผิว • มีผลเชิงจิตวิทยาควรเลือกโทนสีที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย
10) เทคโนโลยี • สัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สาย(WiFi) ควรครอบคลุมทั้งพื้นที่และเชื่อมต่อได้ง่าย
11) เฟอร์นิเจอร์ • เฟอร์นิเจอร์สามารถทำความสะอาดดูแลรักษาได้ง่ายและคงทน
• ควรเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics)  
• ผู้ใช้งานควรมีส่วนร่วมในการเลือกเฟอร์นิเจอร์และตกแต่ง 

บทที่ 2 ภาคการออกแบบ

 

2.1 ข้อมูลและรายละเอียดของโครงการ

 

ชื่อโครงการ: FACULTY LOUNGE M111

ที่ตั้ง: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
เจ้าของโครงการ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง
พื้นที่โครงการ:  143 ตารางเมตร

พื้นที่ภายใน: 107 ตารางเมตร
งบประมาณ:  2.7 ล้านบาท
สถาปนิก: เพชร จิตต์สุวรรณ
ผู้ช่วยสถาปนิก : วโรภาส ชุนณะวงค์  

ภาพถ่าย: VARP

ปีทำการออกแบบ: พ.ศ. 2559

ปีทำการก่อสร้าง: พ.ศ. 2560


 

2.2 ที่มาและวัตถุประสงค์ในการทำโครงการ

ในปี พ.ศ 2556 โดยขณะนั้นผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุษกร รมยานนท์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายบริหาร ทรัพยากรมนุษย์ ได้ดำริให้มีพื้นที่พักผ่อนสำหรับบุคลากรของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และต่อมาในปี พ.ศ 2559 ได้เริ่มดำเนินการการออกแบบและก่อสร้าง โครงการห้องพักสำหรับบุคลากรในชื่อ Faculty Lounge M111 บนชั้นลอย จนแล้วเสร็จในปี 2560 โดยในความรับผิดชอบของฝ่ายทรัพยากรกายภาพ

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อให้เป็นพื้นที่นั่งพักผ่อนสำหรับบุคลากรในช่วงว่างจากการสอนหรือทำงาน
  2. เพื่อให้เป็นพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด และพบปะสังสรรค์สำหรับบุคลากร
  3. เพื่อให้เป็นพื้นที่รับรองอาจารย์พิเศษ และคณะบุคคลมาประชุมกันหรือเยี่ยมเยือน
  4. เพื่อให้มีพื้นที่นั่งพักส่วนตัวสำหรับปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือ ใช้เป็นห้องให้นมบุตรสำหรับคุณแม่
  5. เพื่อให้มีห้องครัวสำหรับรับประทานอาหารเช้าและอาหารกลางวัน

 

2.3 การวิเคราะห์โครงการ

การวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพ ตั้งอยู่บริเวณชั้นลอย(M) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต การเข้าถึงสามารถเข้าถึงได้ง่ายจากชั้น 3 และชั้น 4 ซึ่งทั้งสองชั้นมีจำนวนบุคลากรทำงานมากที่สุด ชั้นอื่น ๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยการใช้ลิฟต์ เนื่องจากทางเข้าหลักเชื่อมต่อโดยตรงกับด้านหน้าของพื้นที่

บริเวณทางเข้าหลักเป็นกระจกเปิดโล่งทั้งหมด และในพื้นที่มีหน้าต่างและช่องแสงขนาดใหญ่ด้านทิศใต้ จึงมีแสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่เพียงพอ ห้องน้ำที่ใกล้ที่สุดอยู่บริเวณชั้น 3 ระยะการเดินประมาณ 18 เมตร จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างห้องน้ำเพิ่มในพื้นที่ใช้งาน

Plan floor M

รูปที่ 2.1 ภาพผังชั้นลอยตำแหน่งที่ตั้งโครงการ (Faculty Lounge M111)

2.4 การวิเคราะห์ผู้ใช้งานในโครงการ

            ผู้ใช้งานหลักคือบุคลากร (อาจารย์และเจ้าหน้าที่) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง จำนวนทั้งหมด 122 คน ผู้ใช้งานรองคือ อาจารย์พิเศษ และ คณะบุคคลมาประชุมหรือเยี่ยมเยือน การใช้พื้นที่เปิดบริการ 8.30-20.00 น. ช่วงเวลาที่มีการใช้งานสูงสุด 8.30-16.30 น. และ ช่วงพักเที่ยง เวลา 12.00-13.30 น. เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน ทางเข้า-ออกจึงติดตั้งระบบสแกนนิ้วที่สามารถใช้ได้เฉพาะบุคลากรในคณะเท่านั้น

ผู้ใ       ผู้ใช้งาน

จำนวน / คน

พื้นที่ทำงาน(workstation)

AR สถาปัตยกรรม  

29

ชั้น 3 ชั้น 4 และ ชั้น 6

IA สถาปัตยกรรมภายใน

8

ชั้น 3 ชั้น 4

UP การผังเมือง

10

ชั้น 4 และ ชั้น 6

LP ภูมิสถาปัตยกรรม

9

ชั้น 5

RD นวัตกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

11

ชั้น 5

UDDI การออกแบบพัฒนาชุมชนเมือง

2

ชั้น 6

DBTM การจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี

6

ชัน 6

ISBE สหวิทยาการสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง

-

-

เจ้าหน้าที่

47

ชั้น 3

รวม

122

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2.5 แนวคิดการออกแบบพื้นที่สถาปัตยกรรมภายใน  

แนวคิดการออกแบบห้องพักส่วนกลางของคณะ (Faculty Lounge)  คือ “สถานที่ที่สาม” (พื้นที่ระหว่างบ้านและที่ทำงาน) “Third places” (The spaces between home and office)  คือแนวคิดการออกให้พื้นที่นั่งพักให้เป็นพื้นที่ที่สาม พื้นที่ระหว่างบ้านและที่ทำงาน เป็นการสร้างสถานที่ที่สามเป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมที่แยกออกจากสภาพแวดล้อมทางสังคมทั้งสองแห่งตามปกติของบ้าน   (“สถานที่แรก”) และสถานที่ทำงาน (“สถานที่สอง”) ตัวอย่างของสถานที่ที่สามคือสภาพแวดล้อมเช่น โบสถ์ ร้านกาแฟ สโมสร เป็นต้น

บ้านและที่ทำงาน คือ สถานที่ซึ่งโดยปกติแล้วคนส่วนใหญ่จะใช้เวลาส่วนใหญ่มากที่สุด และสถานที่ที่สามนั้นเป็น “จุดยึด” ของชีวิตในการส่งเสริมให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ที่กว้างขึ้นและมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น  กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า “สถานที่ที่สามคือสถานที่ที่พักผ่อนพบปะพูดคุยกับเพื่อนหรือบุคคลที่คุ้นเคยและทำความรู้จักกับคนใหม่” การสนทนาซึ่งเป็นกิจกรรมหลัก โทนของการสนทนามักจะมีอารมณ์ขันและร่าเริง ความสนุกสนาน สถานที่ที่สามต้องเปิดกว้างและเข้าถึงได้ง่าย และควรมีลักษณะเป็นประโยชน์ด้านการใช้งานและมีความรู้สึกอบอุ่น มากกว่าความฟุ่มเฟือยหรือความโอ่อ่าและเป็นที่ยอมรับของบุคคลทุกประเภท

แนวคิดการออกแบบการออกแบบห้องพักส่วนกลางของคณะ (Faculty Lounge) พื้นที่ที่ให้ความรู้สึกความรู้สึกอบอุ่นและความเป็นอยู่เช่นเดียวกับการอยู่ในที่บ้านของตัวเอง และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ได้รับการฟื้นฟูจิตวิญญาณในการใช้เวลาอยู่ ณ สถานที่นั้น     ให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกคุ้นเคย และประกอบไปด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรของการเป็นอยู่ ไม่ให้เกิดความรู้สึกเป็นคนแปลกหน้าในสภาพแวดล้อมนั้น โดยเฉพาะผู้ที่เข้ามาเยี่ยมเยือนเป็นครั้งแรก ความรู้สึกเหมือนเข้ามายังห้องรับแขกของบ้านและรับรู้ถึงความสบาย ผ่อนคลาย และเป็นกันเอง การวางผังและการจัดสัดส่วนพื้นที่ใช้สอยเป็นสิ่งสำคัญโดย ยึดหลักการออกแบบพื้นที่พักในสถานที่ทำงานที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ จากการวิเคราะห์ผู้ใช้งานและพื้นที่ใช้สอย สามารถแบ่งพื้นออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. พื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัว (Private space) คือ ห้องปฐมพยาบาล 2. พื้นที่สาธารณะ (Public space) เช่น พื้นที่นั่งอเนกประสงค์ ที่นั่งพัก และ ทำงาน ห้องครัว

การแบ่งพื้นทีใช้สอยได้ดังนี้ 1. ห้องพักคอย (Sitting and Waiting room  2. ห้องพัก (Break room) หรือ ห้องเอนกประสงค์ (Multi-purpose room) 3. ห้องเตรียมอาหาร (Pantry)  4. ห้องปฐมพยาบาล (First aid room)  5.ระเบียง (Balcony)   ดังแสดงในรูปที่ 2.1

รูปที่ 2.2 ภาพการแบ่งพื้นที่ใช้สอยชั้น 2 (Zoning plan) 

รูปที่ 2.3 ภาพผังเฟอร์นิเจอร์ (Furniture layout plan)

1. พื้นที่ส่วนแรกจากทางเข้าหลักเป็นห้องสำหรับนั่งพักสำหรับแขกที่มารอ หรือนั่งทำงาน พื้นที่แยกออกมาจากพื้นที่หลักภายในโดยมีประตูบานเฟี้ยมกระจกเปิด-ปิดเมื่อต้องการ ภายในห้องมีแสงสว่างจากธรรมชาติที่เพียงพอในช่วงกลางวันและแสงประดิษฐ์ โทนสีให้ความรู้สึกสบายผ่อนคลาย การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบของห้องรับแขกมีความเป็นธรรมชาติจากวัสดุที่เลือกใช้ เช่น ไม้เพื่อให้ความรู้สึกอบอุ่น ดังแสดงในรูป 2.4

รูปที่ 2.4 ภาพผังเฟอร์นิเจอร์ห้องพัก (Meeting and working room)

2. พื้นที่ส่วนที่สองคือ ห้องพัก (Beak room) และ ห้องเอนกประสงค์ (Multi-purpose room) โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.พื้นที่เอนกประสงค์ สำหรับนั่งคุย พบปะเพื่อนร่วมงาน นั่งทำงาน ดื่มกาแฟ จัดกิจกรรม ประชุมทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการในที่เดียวกัน และ เป็นพื้นที่สำหรับต้อนรับแขก พื้นที่แยกออกมาจากพื้นที่แรกโดยมีประตูบานเฟี้ยมกระจกเปิด-ปิดเมื่อต้องการ ภายในห้องมีผนังกระจกด้านทิศใต้ ติดกับระเบียงรับแสงสว่างจากแสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่เพียงพอและแสงประดิษฐ์ โทนสีให้ความรู้สึกสบายผ่อนคลาย การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบของห้องรับแขกมีความเป็นธรรมชาติจากวัสดุที่เลือกใช้ เช่น ไม้ ความรู้สึกอบอุ่น และเฟอร์นิเจอร์ที่มีสีสันสดใส ในส่วนพื้นที่พักผ่อนมีโซฟาสำหรับพักผ่อนนุ่มสบายสำหรับนั่งพูดคุยแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีชุดเก้าอี้อาร์มแชร์ สำหรับนั่งพัก พูดคุย หรือ งีบระยะเวลาสั้นๆ ในห้องมีเครื่องชงกาแฟอัตโนมัติให้บริการ

ดังแสดงในรูปที่ 2.5

รูปที่ 2.5 ภาพผังเฟอร์นิเจอร์ห้องพัก (Living room)  ห้องพัก (Break room) หรือ  ห้องเอนกประสงค์ (Multi-purpose room)

3. พื้นที่ส่วนที่สามคือ ห้องครัว (Pantry) เป็นพื้นที่สำหรับรับประทานอาหารเช้า หรืออาหารกลางวัน สำหรับนั่งพูดคุย พบปะเพื่อนร่วมงาน นั่งทำงาน ดื่มกาแฟ ประชุมทั้งแบบไม่เป็นทางการและเป็นทางการในที่เดียวกัน มีชุดอุปกรณ์ครัวครบครันสามารถจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม เมื่อมีงานสังสรรค์ได้ รองรับผู้ใช้งานได้ประมาณ 10 คน

ดังแสดงในรูปที่ 2.6

รูปที่ 2.6 ภาพผังเฟอร์นิเจอร์ ห้องเตรียมอาหาร (Pantry)

4. พื้นที่ส่วนที่สี่ คือ ห้องปฐมพยาบาล (First aid room) คือห้องส่วนตัว สำหรับปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อบุคลากรเจ็บป่วยและต้องการพักผ่อน หรือ เป็นห้องสำหรับคุณแม่ที่ต้องการปั๊มนมหรือให้นม ภายในห้องมีชุดอาร์มแชร์ที่นุ่มสบาย และ ตู้ยาสำหรับเก็บยาสามัญ ดังแสดงในรูปที่ 2.7

รูปที่ 2.7 ภาพผังเฟอร์นิเจอร์ ห้องปฐมพยาบาล (First aid room)

5. พื้นที่ส่วนที่ห้า คือ พื้นที่ภายนอก ระเบียง (Balcony) สำหรับนั่งพักพูดคุย รับอากาศภายนอก สูบบุหรี่ หรือจัดกิจกรรมสังสรรค์

 ดังแสดงในรูปที่ 2.8

รูปที่ 2.8 ภาพผังเฟอร์นิเจอร์ ระเบียง (Balcony)

 

ตารางที่ 2.1 สรุปรายละเอียดพื้นที่ใช้สอยและกิจกรรม

        ประเภทพื้นที่ใช้งาน

        กิจกรรม Activity

ขนาดพื้นที่ ตรม.

จำนวนผู้ใช้งาน

1 ห้องพักคอย (Waiting room)

นั่งรอ หรือ พักผ่อน นั่งดื่มชา-กาแฟ, ทำงาน, พูดคุย

 26 ตรม.

10 คน

2 ห้องพัก (Break room)

นั่งรอ หรือ พักผ่อน นั่งดื่มชา-กาแฟ, ทำงานพูดคุยสังสรรค์ ประชุมกลุ่มขนาดย่อย รับรองแขก กิจกรรมเพื่อสุขภาพ งานเลี้ยงสังสรรค์

53 ตรม.

20 คน

3 ห้องเตรียมอาหาร (Pantry)

รับประทานอาหารเช้า กลางวัน พูดคุยสังสรรค์ ประชุมกลุ่มขนาดย่อย

19.30 ตรม.

10 คน

4 ห้องปฐมพยาบาล (First aid room)               

พักผ่อนชั่วคราวขณะเจ็บป่วย

ให้นมทารก หรือปั๊มนมสำหรับคุณแม่ลูกอ่อน

8.30 ตรม.

1-2 คน

5 ระเบียง (Balcony)

พักผ่อน นั่งดื่มชา-กาแฟ, พูดคุย, จัดงานเลี้ยงสังสรรค์,  สูบบุหรี่

36 ตรม.

12 คน

2.6 ขั้นตอนเสนอแบบร่าง

  รูปที่ 2.10  ทัศนียภาพจำลอง (Perspective)

รูปที่ 2.11  ทัศนียภาพจำลอง (Perspective)

รูปที่ 2.12 ทัศนียภาพจำลอง (Perspective)

รายการเฟอร์นิเจอร์ (Furniture)

เฟอร์นิเจอร์ที่เลือกใช้ในโครงการพิจารณาถึงหลักการยศาสตร์ (Ergonomic)  เก้าอี้นั่งที่สบาย  มีความแข็งแรงทนทาน ดูแลง่าย และเหมาะสมกับสรีระร่างกาย มีความสบาย โทนสีกลาง  

รูปที่ 2.13 ภาพแสดงเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในโครงการ (Selected Furniture)  และ วัสดุ

 

2.7 ขั้นตอนการออกแบบ

1. สำรวจพื้นที่ ศึกษารายละเอียดข้อจำกัดในการออกแบบจากสถานที่จริงและรวบรวมข้อมูลความต้องการของผู้ใช้งาน

2. ขั้นตอนแบบร่างเบื้องต้น เสนอแนวความคิดในการวางผังและทำแบบร่างสถาปัตยกรรม รวมถึงนำเสนอทัศนียภาพจำลอง (Perspective) เพื่อสรุปร่วมกันก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

3. ขั้นพัฒนาแบบร่างเสนอแบบร่างสถาปัตยกรรม ทัศนียภาพจำลองขั้นสุดท้าย และ ตัวอย่างวัสดุที่เลือกใช้ เพื่อสรุปร่วมกันก่อนขั้นดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

4. ขั้นแบบก่อสร้าง ทำแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรมและประสานงานกับวิศวกรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

5. ขั้นตอนการประเมินราคากลางเพื่อใช้การประกวดราคา

 

2.8 ขั้นตอนการก่อสร้าง

1.สำรวจหน้างานและเตรียมพื้นที่ ทางผู้รับเหมาจะเริ่มเข้าหน้างานเพื่อเตรียมพื้นที่ และขอน้ำและไฟฟ้าชั่วคราวสำหรับใช้งาน

2.งานย้ายและรื้อถอน ขั้นตอนการย้ายอุปกรณ์ และ เฟอร์นิเจอร์ออกจากพื้นที่ และทำการรื้อถอนตามแบบ

3.ขั้นตอนการ งานโครงสร้าง ติดตั้งโครงสร้างหลักทั้งหมด เช่น ผนัง ฝ้าเพดาน พื้น กันสาด ทั้งภายในและภายนอก

4.ขั้นตอนงานระบบหลัก เดินท่อร้อยสายระบบไฟฟ้าและแสงสว่างและงานระบบอื่นๆ เช่น ระบบสื่อสารอินเตอร์เน็ต ระบบประปา เครื่องปรับอากาศ เครื่องระบายอากาศ

5. ขั้นตอนงานติดตั้งฝ้าเพดาน งานผนังตกแต่ง  

6. ขั้นตอนงานติดตั้ง หน้าต่าง ประตู และ ผนังกระจกทั้งหมด

และงานสีตกแต่งพื้นผิววัสดุภายในส่วนผนังตกแต่ง

7. ติดตั้งงานเฟอร์นิเจอร์ (Built-in furniture)

8. งานระบบไฟฟ้า งานติดตั้งโคมไฟและหลอดไฟทั้งภายในและภายนอก รวมถึงเดินสายไฟเชื่อมกับสวิตช์ไฟ ปลั๊กตามตำแหน่งที่เตรียมไว้ ติดตั้งเครื่องกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ต (Router Wifi) และติดตั้งเครื่องปรับอากาศ

9. ขั้นตอนปูพื้นภายในและภายนอก 

10. ขั้นตอนการเก็บงาน ทำความสะอาดและทดสอบระบบ ตรวจรายละเอียดต่างๆ เช่น งานทาสี ตรวจสอบงานระบบต่างๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ก่อนตรวจรับงาน จากนั้นจะเริ่มทำความสะอาดคือขั้นตอนสุดท้าย

2.9 ภาพขั้นการก่อสร้าง

รูปที่ 2.16  ภาพขั้นตอนการสำรวจพื้นที่รูปที่ (Exiting)

รูปที่ 2.17  ภาพงานรื้อถอน

รูปที่ 2.18 ภาพงานโครงสร้าง               

2.19 ภาพงานฝ้าและผนัง     

รูปที่ 2.20 ภาพขั้นตอนงานตกแต่งและติดตั้ง

2.10 ภาพถ่ายจากสถานที่จริง

รูปที่ 2.21 ภาพถ่ายการใช้งานจากสถานที่จริง (Front and Waiting Room)

รูปที่ 2.23 ภาพถ่ายการใช้งานจากสถานที่จริง พื้นที่ภายใน (Living Room)

รูปที่ 2.24 ภาพถ่ายการใช้งานจากสถานที่จริง พื้นที่ภายในห้องครัว (Pantry)

รูปที่ 2.25 ภาพถ่ายการใช้งานจากสถานที่จริง 

 

บทที่ 3 บทสรุปและข้อเสนอแนะ

สรุปและข้อเสนอแนะ แนวคิดการออกแบบห้องพักบุคลากรในมหาวิทยาลัย จากการประเมินจากการสังเกตผู้ใช้งานจริงในพื้นที่ เพื่อเป็นกรณีศึกษาในการนำไปการพัฒนาต่อยอด และ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

ห้องพักบุคลากร (Faculty Lounge) ในสถานที่ทำงานเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความสำคัญในการเพิ่มคุณภาพชีวิตและการส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของบุคลากร ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้บุคลากรทำงานได้มีอย่างประสิทธิภาพและมีความสุขในที่ทำงานมากขึ้น เพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีของบุคลากรด้วยกัน และแบ่งปันความคิด การออกแบบต้องคำนึงถึงกลยุทธ์ และหลักการออกแบบห้องพัก เพื่อให้พื้นที่เกิดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและตรงต่อความต้องการของผู้ใช้งานจริง เช่น การแบ่งพื้นที่ใช้สอยที่เหมาะสมในการใช้งาน การเลือกเฟอร์นิเจอร์ในแต่ละพื้นที่มีความสำคัญในการกำหนดการใช้งานของพื้นที่นั้น ๆ เช่น ชุดโซฟา หรือ ชุดอาร์มแชร์ สำหรับนั่งพักแบบผ่อนคลาย พูดคุย ต้อนรับแขก เป็นต้น  การมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อาหาร หรือ เครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มีความจำเป็นในการส่งเสริมและเป็นแรงจูงใจให้ผู้ใช้งานกลับมาใช้อย่างต่อเนื่อง และ เป็นประจำในการสร้างห้องพักบุคลากรสิ่งสำคัญคือการคงอยู่ของพื้นที่ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา และ การบำรุงรักษาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการสร้าง

 

 

รายการอ้างอิง  

หนังสือและเอกสารภาษาอังกฤษ

G. Tricia, Creative Ideas for Employee Break Rooms Retrieved. October 18, 2018 http://livewellsiouxfalls.org/images/uploads/main/Employee_Break_Rooms.pdf

 

G.Park (2010) Staff Break Room Retrieved. October 18, 2018 https://cpb-us-e1.wpmucdn.com/.../a/.../Staff-break-room-1cvr5wu.pdf

 

เว็บไซต์

https://www.phsgreenleaf.co.uk/biophilia-in-office-design-4-ways-to-bring-nature-into-the-office/